เมื่อมองโควิดนายทีนผ่านปรัชญาคุณวิทยา(axiology)แล้วจะแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

covid-stay-at-home

การเกิดโรคระบาดโควิดนายทีนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกในขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพ สวัสดิภาพ เสรีภาพทั้งในระดับบุคคลครอบครัวและสังคมทั่วโลก จนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจให้ตกต่ำอย่างน่าใจหาย มีผู้นำบางประเทศออกมาให้ความเห็นว่ามีความรุนแรงและเสียหายมากกว่าสงครามโลกครั้งที่2เสียอีก ทั้งยังมีการวิจารณ์ในแง่มุมต่างๆที่ส่งผลร้ายต่อสภาพจิตใจของผู้คน แต่มนุษย์เรานั้นหากเข้าใจปรัชญาชีวิตอย่างลึกซึ้ง จะมองทุกอย่างเป็นเพียงปรากฏการณ์แล้วให้คุณค่าและความหมายในทางที่เป็นคุณต่อการดำรงชีวิตนั่นเอง

คุณวิทยาหรืออรรฆวิทยา(axiology) เป็นสาขาหนึ่งของวิชาปรัชญา เป็นการศึกษาเกี่ยวกับค่านิยม คุณค่า และความหมาย ที่เกิดจากการประเมินข้อเท็จจริงที่เป็นเพียงปรากฏการณ์หรือพฤติกรรมที่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ส่วนคุณค่าและความหมายนั้นมีลักษณะอาศัยข้อเท็จจริงที่เกิดจากการตีความว่าควรเป็นอย่างไรและเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

การเขียนบทความครั้งนี้ผู้เขียนเน้นตีความปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงของการแพร่ระบาดโควิดนายทีนเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น มุ่งชี้ชวนผู้อ่านให้คุณค่าและความหมายตามความเป็นจริงและเป็นคุณต่อทั้งสุขภาพกายสุขภาพจิตของคนไทยทุกคน เพื่อให้เกิดผลดีต่อการปรับตัวและร่วมมือร่วมใจรับมือกับปรากฏการณ์แพร่ระบาดของโควิดนายทีนด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง และมองเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นกลางๆ หรือมองด้วยมุมมองที่เป็นคุณต่อตนเองและสังคม

1)ต้องตีความว่าการออกพระราชกำหนดและมีคำสั่งห้ามออกนอกบ้านในบางช่วงเวลานั้นมิใช่การจำกัดเสรีภาพหากแต่เป็นการจัดการพฤติกรรมสุขภาพในระดับมหภาคของประเทศเท่านั้น คำว่าพฤติกรรมสุขภาพนั้นมีหลายระดับ ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้การรอให้ปัจเจกบุคคลทุกทุกคนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ปลอดภัยและรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะมนุษย์แต่ละคนมีความตระหนักรู้ในพฤติกรรมสุขภาพและความรับผิดชอบที่ต่างกัน ดังนั้นจึงต้องใช้มาตรการทางกฏหมายมาควบคุมพฤติกรรมสุขภาพนั่นเอง

2)ต้องตีความว่าประเทศไทยป่วยไม่ใช่ปัจเจกบุคคลป่วย การมองเช่นนี้เป็นการมองตามความเป็นจริงในกรอบแนวคิดของวิทยาศาสตร์สุขภาพ ดังเช่น ถ้ามีผู้ป่วยติดเตียงหรือมีผู้ป่วยจิตเวชหนึ่งคนในครอบครัวเราจะตั้งสมมุติฐานไว้ว่าทั้งครอบครัวป่วย นั่นเพราะคนทั้งครอบครัวจะมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทั้งต้องดูแลญาติที่ผู้ป่วยและทำหน้าที่การงานอื่นๆควบคู่ไปด้วย ซึ่งนักสุขภาพต้องเข้าไปช่วยให้การปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงในการจัดการกับครอบครัวนั้นๆ เพื่อช่วยให้เขาทำหน้าที่ต่อไปได้ และเหตุการณ์โควิดนายทีนระบาดในครั้งนี้ก็ต้องตั้งสมมุติฐานว่าประเทศป่วยไม่ใช่เป็นเพียงปัจเจกบุคคลป่วยเท่านั้น(ประเทศคือครอบครัว) เพราะการมองเช่นนี้จะทำให้เกิดการจัดการพฤติกรรมสุขภาพทั้งในระดับบุคคลและระดับชาติอย่างเต็มกำลังนั่นเอง

3)ต้องตีความว่าพฤติกรรมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดนายทีมเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และสำคัญเท่าชีวิต ประชาชนทุกคนต้องให้คุณค่าและความหมายของพฤติกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่มากๆ จึงจะนำมาสู่การตระหนักรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมให้เอื้อต่อการป้องกันการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้ พฤติกรรมนั้นก็คือให้ใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัย ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ กระทั่งให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะบุคลากรทางสาธารณสุขที่ออกมาให้ความรู้กันอย่างต่อเนื่องและมากมาย

4)ต้องตีความว่าทุกปรากฏการณ์มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของโควิดนายทีนก็เช่นกัน เมื่อมีการเกิดขึ้นและขณะนี้กำลังตั้งอยู่(แพร่ระบาด)ในที่สุดก็จะมีการดับไปเป็นธรรมดานั่นเอง แต่หากประชาชนคนไทยทุกคนให้คุณค่าและความหมายตามข้อหนึ่งถึงข้อสามดังที่กล่าวมา จะเป็นการให้คุณค่าและความหมายที่จะเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพและหยุดการแพร่ระบาด(ดับไป)ได้เร็วยิ่งขึ้นนั่นเอง

การนำเสนอบทความผ่านกรอบของวิทยาการปรัชญาสาขาคุณวิทยาและการส่งเสริมสุขภาพในครั้งนี้ หวังว่าจะช่วยให้คนไทยทุกคนตีความปรากฏการณ์ต่างๆที่รัฐใช้แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดนายทีนอยู่ในขณะนี้ได้ตามความเป็นจริงและเป็นฝ่ายบวก เพราะการมองด้วยคุณค่าและความหมายเช่นนี้จะช่วยให้จิตใจสงบเป็นกลางๆและเกิดสติสมาธิในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างมีความเข้าใจและสบายใจจนกว่าปัญหาจะคลี่คลายในที่สุด

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy นักเขียนด้านสุขภาพจิตการสื่อสารและศาสนาปรัชญา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มติชน, อมรินทร์ธรรมะ, ซีเอ็ด, ดีเอ็มจี และวิชบุ๊ก

Recommended Posts