สูงด้วยการศึกษาและเงินตราแต่ไร้เชาว์ปัญญาทางสังคมสัมพันธ์

raster illustration of furious man’s head firing…

“ผมต้องรับโทรศัพท์ลูกค้ารายหนึ่งประมาณห้าทุ่มแทบทุกคืน ซึ่งเขาจะโทรศัพท์มาติดตามงานต่างๆที่ว่าจ้างให้ทำประชาสัมพันธ์หน่วยงานและสินค้าของเขา รวมทั้งตัวของเขาเองด้วย บ่อยครั้งที่ได้ยินเสียงด้วยผรุสวาทวาจาจากเขาเช่น งานที่ว่าจ้างใช้ปัญญาคิดไปถึงไหนแล้วและงานที่ทำออกมาเดือนที่แล้วนั้นห่วยมากๆ พวกคุณทำได้เท่านี้นะหรือ

กระทั้งโทรศัพท์มาหาในยามค่ำคืนแทบทุกครั้งและอ้างว่าเป็นผู้ว่าจ้างงานจะโทรศัพท์มาเวลาใดก็ได้ โดยปราศจากความเกรงใจใดๆในความเป็นวิญญูชนร่วมกัน ทั้งๆที่งานทุกอย่างที่ทำไปทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพก็ได้ทำตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้วทุกอย่าง ผมจึงได้ประชุมกับทีมงานและขอยุติการรับจ้างงานของเขาถึงแค่สิ้นปีนี้

ลูกค้าผมรายนี้จบปริญญาเอกจากต่างประเทศ เป็นลูกคนเดียวของครอบครัวที่ร่ำรวย ถูกเลี้ยงดูมาอย่างตามใจ อยากได้อะไรแล้วต้องได้ ถือเอาความคิดตนเองเป็นใหญ่ ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย เห็นใครที่ด้อยกว่ายิ่งแสดงอำนาจต่อเขาทั้งกิริยาและวาจา เมื่อตอนเรียนปริญญาโทอยู่ต่างประเทศเคยถูกมหาวิทยาลัยที่นั่นส่งกลับเมืองไทยด้วยเหตุผลไม่สามารถปรับตัวเข้ากับบริบทของเขาได้ จึงย้ายมาเรียนปริญญาโทที่เมืองไทยจนจบ จากนั้นจึงกลับไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ต่างประเทศอีกครั้ง

นอกจากนั้นยังทราบมาอีกว่าในระยะห้าปีที่ผ่านมา เขาว่าจ้างบริบัทและบุคคลให้ทำประชาสัมพันธ์และดูแลบุคลิกภาพให้ตนเองผ่านมาแล้วเกือบสิบราย และแต่ละบริบัทล้วนเป็นผู้ขอยกเลิกการรับจ้างงานจากเขาทั้งสิ้น ทั้งยังมีการบอกต่อๆกันเรื่องนิสัยของลูกค้าคนนี้จนแทบทุกบริบัทต่างก็ปฏิเสธการรับงานจากเขาในที่สุด”

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่กัลยาณมิตรท่านหนึ่งปรึกษากับผู้เขียนและเล่าให้ฟังทั้งหมดตลอดมาจนเขาตัดสินใจยกเลิกรับจ้างงานจากลูกค้ารายดังกล่าว เฉกเช่นเดียวกันกับบริบัทอื่นๆที่ปฏิเสธผ่านมาแล้วทั้งสิ้น เพราะไม่ต้องการสมาคมกับคู่ค้าที่ไ้ร้มารยาทและไม่รู้จักให้เกียรติผู้อื่น

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เขียนคิดถึงบุคคลอีกมากมายในสังคมที่มีการศึกษาสูงและอาจมีเงินและมีอำนาจแต่ถูกปฏิเสธความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน ตลอดทั้งคู่ค้าในเชิงธุรกิจดังตัวอย่างที่นำเสนอมา นั่นเป็นปัญหาที่เกิดจากขาดความฉลาดทางอารมณ์(EQ)และความฉลาดทางสังคม(SQ) ซึ่งมิใช่ปัญหาด้านความฉลาดทางเชาว์ปัญญา(IQ)ที่สามารถจะเรียนได้ในระดับสูงแต่อย่างใด

ความฉลาดทางอารมณ์(EQ)คือความสามารถในการรู้เท่าทันและจัดการควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีกระทั่งแสดงออกได้อย่างเหมาะสมตลอดจนมีความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น ส่วนความฉลาดทางสังคม(SQ)นั้นเป็นความสามารถในการรู้คุณค่าของทั้งตนเองและผู้อื่นปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม โดยสามารถสร้างและรักษาความสัมพันธ์ต่อผู้คนได้เป็นอย่างดี ตลอดจนเคารพและปฏิบัติตามกฏกติกาต่างๆทางสังคมได้อย่างมีความสุข

โฮวาร์ด การ์ดเนอร์(Howard Gardner)ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดได้กล่าวถึง #ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์(Interpersonal intelligence)ซึ่งก็เป็นสิ่งเดียวกันกับความฉลาดทางสังคมนั่นเอง เป็นหนึ่งในแปดประการของอัจฉริยะตามทฤษฏีพหุปัญญา(Theory of multiple intelligence) ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถชั้นเลิศของบุคคลที่จะนำมาสู่ความสำเร็จในชีวิตและการได้รับการยอมรับนับถือจากสังคมไ้ด้อย่างแท้จริง

จะเห็นได้ว่าตามที่ผู้เขียนนำเสนอตัวอย่างมาแต่แรกนั้น นายจ้างคนดังกล่าวเข้าข่ายลักษณะของบุคคลที่มีความสามารถทางเชาว์ปัญญา(IQ)สูงจึงสามารถเรียนได้ถึงขั้นปริญญาเอก แต่เชาว์ปัญญาด้านสังคมสัมพันธ์ต่ำจึงแสดงออกในลักษณะที่ไร้การให้เกียรติและไร้ความเข้าใจเห็นใจผู้อื่น ตลอดจนสื่อสารที่ไร้ความสุภาพด้วยการดูถูกเหยียดหยามกระทบกระเทียบเหน็บแนมผู้อื่นจนคู่ค้าทุกรายที่เคยรับงานปฏิเสธความสัมพันธ์เชิงธุรกิจในที่สุด

ปรากฏการณ์ทำนองเช่นนี้พบอยู่มากมายในสังคม ซึ่งแต่ละรายอาจมีระดับของการขาดความฉลาดทางสังคมแตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตามในมุมมองด้านสุขภาพจิตนั้นถือว่าน่าสงสารและน่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง ที่คนเหล่านั้นไม่รู้และไม่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ทั้งๆที่อาการเหล่านั้นสามารถบำบัดรักษาได้ แต่ก็ปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังในชีวิต นอกจากบางรายที่ตระหนักรู้ได้ถึงผลกระทบจากพฤติกรรมดังกล่าวจนตนเองรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลสูง จึงจะมาปรึกษานักสุขภาพจิตและจิตแพทย์จนนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และสามารถแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด

#การนำเสนอบทความในครั้งนี้มิได้มีประสงค์เพื่อเหยียดหยามผู้ที่มีลักษณะดังกล่าว กระทั่งมิได้มุ่งนำเสนอสาเหตุและวิธีการป้องกันการขาดความฉลาดทางสังคม #แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งนำเสนอลักษณะเด่นของผู้ที่ขาดความฉลาดทางสังคม เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านตระหนักว่า ปัญญาด้านการปรับตัวหรือด้านบุคลิกภาพที่ขาดความฉลาดทางสังคมนั้นมีอยู่จริง ซึ่งน่าสงสารและน่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง และอาการเหล่านั้นยังสามารถรักษาและปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ขอเพียงแค่เปิดใจกว้างที่จะเข้าสู่กระบวนการแก้ไขเท่านั้น ก็จะสามารถช่วยเหลือกันได้ในที่สุด

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วลองสำรวจตัวเราเองและบุคคลใกล้ชิดดูซิว่า ใครที่มีลักษณะคล้ายกับกรณีศึกษาข้างต้นดังกล่าว ก็ควรรีบมาปรึกษานักสุขภาพจิตและจิตแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านการปรับตัวให้มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีความสุขในที่สุด เพราะธรรมชาติทางจิตวิทยาของมนุษย์ทุกคนนั้น ล้วนต้องการมิตรภาพและความผูกพัน ใช่การอยู่อย่างโดดเดี่ยวและไร้ความภาคภูมิใจ

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพจิตสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ wuttipong academy ,ประธานมูลนิธิเอ็มพลัส ,กรรมการบริหารมูนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุงและประธานกองทุนกิจกรรมทางสังคมเพื่อสุขภาพจิต 12/สค/63

Recommended Posts