การตีตราอันตรายของความคิดบิดเบือน

bb

คนขี้ขลาดตาขาว คนขี้แพ้ คนขี้แย คนพ่อแม่ไม่รัก คนเกเร คนเหลือเดน เป็นคนโชคร้าย เป็นได้แต่นางรองไม่เคยเป็นที่หนึ่ง เป็นคนไร้คุณค่า ไร้ความหมาย เป็นคนไร้ความสามารถทำสิ่งใดก็ไม่สำเร็จ เป็นลูกที่พ่อแม่ไม่ปลื้ม เป็นคนที่ถูกลืม เป็นคนไร้ตัวตน เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของคำพูดการตีตราตนเองและผู้อื่นในทางลบที่มักพบเสมอในชีวิตประจำวัน

#การตีตรา(labeling)ในทางลบนั้นเป็นหนึ่งในรูปแบบความคิดบิดเบือนที่สำคัญยิ่งที่มีสาเหตุมาจากการสื่อสารในครอบครัวและสิ่งแวดล้อม ที่มักพูดกันแต่เรื่องลบๆในลักษณะประณามหยามเหยียด ใส่ใจแต่สิ่งที่เป็นปมด้อยและเลวร้ายในชีวิตแล้วหยิบยกมาตีตราให้ผู้อื่นหรือตนเอง

#การตีตราเป็นวิธีคิดและวิธีสื่อสารที่อันตรายมาก โดยเฉพาะในวัยเด็กและวัยรุ่นที่ถูกตีตราจากครอบครัวเพื่อนฝูงและสิ่งแวดล้อม เพราะการตีตราดังกล่าวจะเป็นความประทับจำทางใจในทางลบ ทำให้เกิดความฝังใจและกำหนดทิศทางการสื่อสารและการกระทำให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกตีตราเช่นนั้นเอง

#การตีตราทุกเนื้อหาล้วนส่งผลต่อความหมายทางลบต่อความคิดและชีวิตทั้งสิ้น ส่งผลให้คนเราไร้ความภาคภูมิใจในชีวิตซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของผู้ที่มีสุขภาพจิตดี เพราะชีวิตที่ไร้ความภาคภูมิใจ อย่างสม่ำเสมอนั้นนอกจากเป็นชีวิตที่ไร้พลังสุขภาพจิตแล้ว ยังอาจส่งผลให้บุคคลนั้นน้อยเนื้อต่ำใจ ป่วยทางจิต ประชดชีวิตและหันไปหาอบายมุขต่างๆได้อีกด้วย

การป้องกันและแก้ไขลดการตีตราตนเองและผู้อื่นในสังคมทำได้หลายวิธีดังต่อไปนี้

1)#แสดงความชื่นชมและห่วงใยกันอย่างสม่ำเสมอ การแสดงความชื่นชมนั้นจะต้องค้นหาคุณงามความดีของทั้งตนเองและผู้อื่นแล้วนำมาให้ชื่นชมกัน เพราะการชื่นชมจะส่งผลให้ชื่นใจและภูมิใจทั้งตนเองและผู้อื่น ส่วนการสื่อสารแสดงความห่วงใยใส่ใจกันนั้น แสดงให้เห็นถึงความมีคุณค่าต่อกันและกันซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพจิตดี

2)#หลีกเลี่ยงการตอกย้ำสิ่งที่ย่ำแย่ในชีวิต การหลีกเลี่ยงไม่ให้ตอกย้ำสิ่งที่ผิดหวังหรือเลวร้ายใดๆในชีวิตนั้น จะเป็นการหลบเลี่ยงการสร้างความประทับจำที่ชอกช้ำใจไม่ให้ยิ่งใหญ่และฝั่งลึกจนกลายเป็นบาดแผลทางใจที่ยากจะเยียวยาและตีตราตนเอง

3)#อย่าใส่ความหมายยิ่งใหญ่ในทางลบ การพบเรื่องแย่ๆในชีวิตนั้นเป็นเรื่องปรกติที่ใครๆก็พบได้ แต่การไม่ให้คุณค่าและความหมายยิ่งใหญ่ในเรื่องลบนั้นสำคัญยิ่ง เพราะหากคิดเช่นนั้นซ้ำไปซ้ำมาจนช้ำใจจะทำให้เกิดการตีตราตนเองในทางลบเกิดขึ้นนั่นเอง

4)#พูดคำตรงกันข้ามกับคำตีตรา หากคุณถูกตีตรามานานหลายปี วิธีสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงคือคุณต้องพูดคำหรือประโยคในความหมายที่ตรงกันข้ามกับการถูกตีตรา เช่น หากถูกตีตราว่า “เป็นคนที่ทำอะไรล้มเหลว” ก็ต้องพูดกับตนเองว่า “เป็นคนที่ทำอะไรแล้วสำเร็จ” เป็นต้น โดยพูดกับตัวเองซ้ำๆทุกวันโดยเฉพาะก่อนนอนคืนละ 15 นาที

5)#ตรวจสอบความจริงของการตีตรา การตรวจสอบความจริงของการตีตรานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง หมายถึงการพิจารณาใคร่ครวญดูว่าตนเองเป็นดังเช่นตีตรานั้นจริงๆหรือ หรือเป็นเพียงการคิดไปเองเท่านั้น เช่นเคยผิดพลาดสิ่งใดเป็นบางครั้งเท่านั้นแต่นำมาเหมารวมตีตราว่าเป็นเช่นนั้นทั้งชีวิต เป็นต้น

หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกันช่วยลดการตีตราในทางลบต่อทั้งตนเองและผู้อื่น จะช่วยให้ทุกคนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ส่งผลให้ครอบครัวและสังคมมีแต่ความดีงามและภาคภูมิใจ ซึ่งจะสามารถป้องกันปัญหาทางใจและส่งเสริมสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพจิตสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ wuttipong academy ,ประธานมูลนิธิเอ็มพลัส ,กรรมการบริหารมูนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุงและประธานกองทุนกิจกรรมทางสังคมเพื่อสุขภาพจิต 12/สค/63

Recommended Posts