ครูขืนใจนักเรียนเหตุจากโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ

s__3833859

จากกรณีข่าวดังที่ครูจำนวนห้าคนพร้อมด้วยศิษย์เก่าอีกสองคนถูกแจ้งความว่าขืนใจนักเรียนหญิงระดับมัธยมศึกษายาวนานนับปี และมีเพื่อนครูออกมาแสดงความเห็นใจครูที่ถูกจับกุมพร้อมทั้งอ้างว่าครูก็มีชีวิตจิตใจมีอารมณ์ทางเพศได้เช่นคนอื่นๆนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าว เพราะครูต้องมีมีจรรยาบรรณวิชาชีพไม่พึงกระทำเช่นนั้น จะต้องมีความยับยั้งชั่งใจ กระทั่งเหตุการณ์ทำนองนี้ก็เกิดครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคม นั่นเป็นเพราะว่าบุคคลเหล่านั้นป่วยทางคุณธรรมด้วยโรคขาดความยับยั้งชั่งใจนั่นเอง

ความยับยั้งชั่งใจ(Restrain)คือ ความสามารถในการควบคุมความคิดและอารมณ์ของตนเองเพื่อใคร่ครวญและทบทวนดูผลดีผลเสีย,ผลกระทบ,คุณค่าและความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆอย่างรอบคอบก่อนจะตัดสินใจกระทำการใดๆลงไป ผู้ที่มีความยับยั้งชั่งใจจะตัดสินใจกระทำการใดๆด้วยความรับผิดชอบ ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองผู้อื่นและสังคม

ตามหลักพุทธปรัชญา ความยับยั้งชั่งใจมีสองอย่างคือ ความยับยั้งชั่งใจที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและเกิดจากการฝึกฝนที่แนบเนื่องมากับการพัฒนาสตินั่นเอง มีคำที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคำว่าความยับยั้งชั่งใจหลายคำ คือคำว่า สติ(ความระลึกได้) ,สัมปชัญญะ(ความรู้ตัวทั่วพร้อม) ,ทมะ(ความข่มใจ) และสัญญมะ(ความยับยั้งชั่งใจ) ทั้งหมดนี้เป็นความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการเลี้ยงดูประสบการณ์และการเรียนรู้ตลอดชีวิต และในทางสุขภาพจิตสิ่งเหล่านี้ยังเป็นคุณสมบัติที่ดีของผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์(eq)อีกด้วย

ความยับยั้งชั่งใจนั้นสามารถสร้างและพัฒนาได้โดยเริ่มจากการพัฒนาสติตามหลักการสติปัฏฐานสี่แนวพุทธปรัชญานั่นเอง ที่ผู้เขียนใช้คำว่าพุทธปรัชญาแทนคำว่าพุทธศาสนานั้นเป็นความใจกว้างในทางวิชาการที่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านทบทวน ทดสอบ พิสูจน์และวิพากษ์วิจารณ์หลักการและความรู้เหล่านั้นได้ว่า เป็นจริงหรือไม่และอย่างไร

กล่าวคือหากหมั่นฝึกฝน “รับรู้”ความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของตนเองอยู่เนื่องๆ เช่น คิดก็มุ่งรับรู้ว่าเป็นเพียงการคิดๆๆๆ ,รู้สึกอย่างไรก็มุ่งรับรู้ความรู้สึกนั้นไปเรื่อยๆเช่นรู้สึกเศร้าก็รับรู้ว่าเศร้าๆๆ ,รู้สึกโกรธก็มุ่งรับรู้ว่าโกรธๆๆๆ, รู้สึกน้อยใจก็มุ่งรับรู้ว่าน้อยใจๆๆ ,รู้สึกกำหนัดก็มุงรับรู้ว่ารู้สึกกำหนัดๆๆ ฯ หากทำได้เช่นนี้อย่างสม่ำเสมอจะพัฒนาสติสัมปชัญญะและสัญญมะคือความยับยั้งชั่งใจให้ดีขึ้นเรื่อยๆในที่สุด นอกจากพุทธวิธีดังกล่าวแล้วยังสามารถพัฒนาความยับยั้งชั่งใจในแบบง่ายๆได้อีก4วิธีคือ

1) ฝึกฝนหายใจเข้าออกยาวๆ กล่าวคือเมื่อพบความคิดและอารมณ์ความเครียดความวิตกกังวล ความผิดหวัง ความเศร้าโศก ความโกรธแค้นและเสียใจใดๆก็ตามให้หยุดนิ่งด้วยการนั่งหรือยืนหรือนอนแล้วดูลมหายใจของตนเองเข้าออกยาวๆ โดยขณะหายใจเข้าให้นับ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า และขณะหายใจออกให้นับ ห้า สี่ สาม สอง หนึ่ง มุ่งตามดูลมเข้าลมออกทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆประมาณ 15 – 20 นาทีทุกๆครั้งที่เกิดความคิดและอารมณ์ลักษณะดังกล่าว

2)หยุดคิดในเรื่องที่กระตุ้นอารมณ์ด้านลบ กล่าวคือขณะที่คิดถึงสิ่งๆต่างๆที่ทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบเช่นเครียด วิตกกังวลหม่นหมองเศร้าใจโกรธแค้นผิดหวังเสียใจ หรือกำหนัด ฯล้วนเกิดจากการคิดลบทั้งสิ้น ดังนั้นการหยุดคิดลบทันทีและหันไปคิดด้านบวกจะทำให้อารมณ์ที่ขุ่นมัวอยู่นั้นพลิกผันเป็นอารมณ์ด้านบวกขึ้นได้ก็จะช่วยยับยั้งการกระทำในทางลบได้เช่นกัน

3)ย้ายความสนใจไปที่เหตุการณ์อื่น คำว่าย้ายความสนใจไปที่เหตุการณ์อื่นนั้นหมายความว่าในขณะที่เรากำลังเผชิญความคิดและอารมณ์ที่กระตุ้นให้รู้สึกในทางลบต่างๆที่จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นทำร้ายตัวเองและผู้อื่นนั้น หรือขืนใจผู้อื่น ให้หันเหความสนใจไปที่เหตุการณ์อื่น ซึ่งจะช่วยให้ตัวเราลืมความคิดและอารมณ์ที่เผชิญอยู่เดิมนั้นได้ระยะหนึ่ง

4)หนีออกจากสถานการณ์ กล่าวคือเมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งใดๆ หรือกำหนัด ส่วนใหญ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งคู่กรณีมักจะกระตุ้นและหุนหันพลันแล่นเข้าหากัน แม้กระทั่งพฤติกรรมกรรมด้านสัมพันธ์สวาท จึงขาดความยับยั้งชั่งใจและทำร้ายกันและกันหรือทำร้ายตนเองหรือขืนใจผู้อื่น ดังนั้นหากหยุดคิดตั้งสติระงับอารมณ์จากนั้นให้กล่าวขอโทษและปฏิเสธพร้อมบอกเหตุผลแล้วเดินหลีกเลี่ยงออกจากสถานการณ์ไป ก็จะช่วยให้เกิดความยับยั้งชั่งใจและคลี่คลายเหตุการณ์ให้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้นหากทุกท่านสามารถฝึกปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานสี่ในแนวพุทธปรัชญาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งวิธีการพื้นฐานอีกสี่ประการที่กล่าวมา ก็จะช่วยพัฒนาสติสัมปชัญญะ
ทมะและสัญญมะคือความยับยั้งชั่งใจได้เป็นอย่างดี จะช่วยป้องกันความหุนหันพลันแล่นและไม่กระทำการใดๆที่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น เช่นเดียวกันกับครูทั้งห้าคนที่กล่าวมาหากเขาได้ฝึกปฏิบัติตามที่ผู้เขียนได้กล่าวมาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีความยับยั้งชั่งใจและไม่กระทำใดๆที่ขัดต่อจริยธรรมทางวิชาชีพในที่สุด •แล้ววันนี้เราทุกคนสะสมพลังแห่งความยับยั้งชั่งใจกันไว้เพียงพอแล้วหรือยัง?

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy นักเขียนด้านสุขภาพจิตการสื่อสารและศาสนาปรัชญา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มติชน, อมรินทร์ธรรมะ, ซีเอ็ด, ดีเอ็มจี และวิชบุ๊ก

Recommended Posts