“มาช่วยกันป้องกันการฆ่าตัวตายกันเถิด”

204

วันที่10กันยายนของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกและในปีนี้ได้กำหนดคำขวัญไว้ว่า Working Together to Preven Suicide หากจะแปลเป็นภาษาไทยก็คงจะประมาณว่า “ มาร่วมมือร่วมใจกันเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย” ตลอดเวลามากกว่าสามทศวรรษในชีวิตของผู้เขียนทำงานอยู่ในวงการสุขภาพจิตและรณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายตลอดมาจนถึงบัดนี้ ปัญหาการฆ่าตัวตายก็ยังไม่หมดไปจากโลกนี้เสียที

บางปีมีผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจากทั่วโลกถึงหนึ่งล้านคน บางปีก็หลายแสนคน และเมื่อสองปีที่ผ่านมาสถิติจากองค์การอนามัยโลกคือปีละประมาณเจ็ดแสนคน สำหรับประเทศไทยก็ประมาณปีละสี่พันกว่าคน ซึ่งก็เป็นเช่นนี้ขึ้นๆลงๆตลอดมา ดังนั้นบทความนี้จึงไม่เน้นนำเสนอในเชิงสถิติ แต่เน้นเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านมาร่วมมือกันป้องกันการฆ่าตัวตายด้วยสามแนวคิดที่ผู้เขียนสังเคราะห์ขึ้นนั่นคือ ห่วงใยใส่ใจ ช่วยเหลือฉับไว และไร้อคติ

1)ห่วงใยใส่ใจ คือการดูแลเอาใจใส่ทั้งตัวเองและบุคคลใกล้ชิดโดยหมั่นตั้งข้อสังเกตดูว่า ตัวเราและบุคคลใกล้ชิดมีภาวะวิกฤตในชีวิตอะไรบ้าง และรับมือได้หรือไม่ ตลอดจนมีความซึมเศร้าจนกระทั่งไม่สามารถปรับตัวได้และคิดอยากฆ่าตัวตายหรือไม่ กระทั่งดูแลเอาใส่ใจบุคคลใกล้ชิดที่คิดจะฆ่าตัวตายเมื่อเขาสื่อสารที่มีเนื้อหาเชิง”สั่งเสียฝากฝังและสั่งลา”ต่างๆเช่น”ถ้าผมไม่อยู่ฝากดูแลลูกด้วยนะครับ” หรือ ”ชีวิตนี้ไร้คุณค่าจะไม่อยู่ต่อไปอีกแล้วขอฝากดูแลแม่ด้วย” เป็นต้น

2)ช่วยเหลือฉับไว การช่วยเหลืออย่างฉับไวนั้นมีความสำคัญอย่างที่สุด เพราะมักพบอยู่เสมอว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จนั้น สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะบุคคลใกล้ชิดไม่ใส่ใจในคำสั่งเสียฝากฝังและสั่งลาและไม่เชื่อว่าเขาจะทำจริงจึงชะล่าใจ ไม่รีบนำไปพบแพทย์ทันที กว่าจะรู้ก็สายไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่บุคคลใกล้ชิดสื่อสารทำนองสั่งเสียฝากฝังสั่งลา ขอให้รีบพากันมาหาหมอฉับพลันทันที ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายได้อย่างรวดเร็วในที่สุด

3)ไร้อคติ คำว่าไร้อคตินั้นมีความสำคัญต่อการช่วยเหลือผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายเป็นอย่างมาก เพราะหากมีอคติมองว่าคนที่จะฆ่าตัวตายนั้นเรียกร้องความสนใจไม่ต่อสู้ชีวิตและไร้ความอดทนแล้ว ความคิดเช่นนี้จะทำให้ไม่อยากช่วยเหลือเขา ส่วนคติที่เหมาะสมต่อการช่วยเหลือนั้นจะต้องคิดว่า ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายนั้นเป็นการเจ็บป่วยด้านจิตใจและการสื่อสารสั่งเสียฝากฝังสั่งลานั้นคือการร้องขอความช่วยเหลือ และต้องเชื่อว่าเขาจะทำจริง วิธีคิดเช่นนี้จะทำให้เราอยากดูแลเอาใจใส่และช่วยเหลือเขาอย่างฉับไวเพื่อให้ถึงมือหมอโดยเร็วนั่นเอง

ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายจำนวนไม่น้อยมักคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางออกของการแก้ปัญหา แต่หารู้ไม่ว่าด้วยแนวคิดทฤษฎีทางพุทธศาสนานั้น อธิบายว่าการตายด้านร่างกายนั้นเป็นของชั่วคราว(สมุติมรณะ) แต่จิตใจและวิญญาณนั้นยังคงเวียนว่ายตายเกิดครั้งแล้วครั้งเล่าอยู่นั่นเอง ดังนั้นการฆ่าตัวตายจึงเป็นการทำร้ายและพยาบาทตัวเองวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าข้ามภพข้ามชาติอยู่เช่นนั้น เพราะฉะนั้นหากต้องการจะพ้นวงจรนี้จึงต้องหยุดฆ่าตัวตายให้ได้ ณ ภพปัจจุบัน เพราะนั่นจะเป็นการยุติการอาฆาตและให้อภัยตัวเองนำไปสู่การยุติโดยสิ้นเชิงในที่สุด

นอกจากนั้นในศาสนาคริสต์ยังเชื่อว่ากายของเราเป็นที่สถิต วิญญาณบริสุทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า และเราไม่ใช่เจ้าของร่างกายตัวเอง เจ้าของร่างกายนี้คือพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นเราจึงมีหน้าที่ต้องรักษาร่างกายที่เปรียบเสมือนวิหารที่สถิตวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ให้ดีและยาวนานที่สุด การรักษาชีวิตเป็นหน้าที่ของเราและเมื่อไหร่จะต้องเสียชีวิตก็เป็นเรื่องของพระเจ้าจะทรงนำไม่ใช่ตัดสินใจฆ่าตัวตายเสียเองเพราะนั่นเท่ากับทำลายวิหารของพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง

ดังนั้นหากทุกท่านศึกษาศาสนาปรัชญาของชีวิตในหลายแง่มุมให้ดีแล้ว จะมีแนวคิดต่างๆที่ช่วยยับยั้งรั้งใจไม่ให้ฆ่าตัวตายได้ ขณะเดียวกันวงการจิตเวชศาสตร์ก็พัฒนาวิธีการรักษาสุขภาพจิตทั้งการรักษาด้วยยาและจิตบำบัดขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากใช้ทั้งหลักการปรับแนวคิดทางศาสนาพร้อมการรักษาด้วยยาแล้ว ยิ่งจะสามารถช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตจนคิดจะฆ่าตัวตายให้พ้นจากความเจ็บป่วยทางใจได้ในที่สุด

ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาการฆ่าตัวตายคงไม่หมดไปจากโลกนี้อย่างสิ้นเชิงตราบที่โลกยังมีมนุษย์อยู่ เพราะสาเหตุการฆ่าตัวตายนั้นมีความซับซ้อนและความเป็นพลวัตสูง แต่การช่วยกันรณรงค์ป้องกันให้ลดลงนั้นเป็นสิ่งที่พึงทำได้ ดังคำขวัญการรณรงค์ของปีนี้ที่กล่าวมาแต่ต้น ดังนั้นหากทุกๆคนหมั่นตั้งข้อสังเกตสามประการดังที่ได้กล่าวมาคือ”ดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือฉับไวและไร้อคติ” ต่อผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายแล้วปัญหาเหล่านี้ก็จะคลี่คลายได้ในที่สุด

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพจิตสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ wuttipong academy ,ประธานมูลนิธิเอ็มพลัส ,กรรมการบริหารมูนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุงและประธานกองทุนกิจกรรมทางสังคมเพื่อสุขภาพจิต 12/สค/63

Recommended Posts