ความรู้สึกไร้คุณค่าคือปัญหาที่สำคัญของชีวิต

Portrait, One Woman Only, Glass Box, Fallen Leaves, Rear View
s__1048650

“#หนูรู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่สำเร็จและไม่มีความสามารถมาตลอดชีวิต” นั่นเป็นคำพูดของผู้เข้าประกวดนางงามคนหนึ่งที่บอกกับผู้เขียนและคณะกรรมการขณะที่กำลังสัมภาษณ์เชิงลึก ซึ่งวงการนางงามเรียกว่าเข้าสัมภาษณ์ห้องเย็น เป็นกิจกรรมสำคัญในการสำรวจทัศนคติบุคลิกภาพภายในและความฉลาดทางอารมณ์ของผู้เข้าประกวด ก่อนจะขึ้นเวทีประกวดในคืนสุดท้าย

#นอกจากประโยคที่เธอได้บอกแก่คณะกรรมการแล้ว ตลอดการสัมภาษณ์ผู้เขียนสังเกตสีหน้าท่าทางของเธอก็บ่งบอกว่าเธอไร้ความมั่นใจในตัวเองไม่น้อยเลยทีเดียว และนั่นเป็นปมทางความคิดสำคัญที่ควรได้รับการช่วยเหลือ ผู้เขียนตั้งใจไว้ว่าหลังจากเสร็จสิ้นการประกวดแล้วจะช่วยเหลือเธอด้วยการทำจิตบำบัดแบบปรับความคิด(cognitive therapy)อย่างเป็นระบบต่อไป

#การคิดและรู้สึกว่าตนเองทำสิ่งใดก็ไม่สำเร็จและไร้ความสามารถนั้น เป็นรูปแบบความคิดบิดเบือน(thinking errors)ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าการ #ตีตราตนเอง(labeling) ทั้งนี้สาเหตุอาจเนื่องมาจากบริบทเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยให้เขาคิดเช่นนั้น และการคิดแบบนี้ยังมีผู้คนในสังคมอีกเป็นจำนวนมากที่คิดแบบนี้เช่นกัน

คนที่คิดบิดเบือนแบบตีตราตนเองดังตัวอย่างที่กล่าวมานั้น มักจะควบคู่กับวิธีคิดด้านลบในชีวิตเช่นกัน ซึ่งหากมีวิธีคิดเช่นนี้แข็งแกร่งเท่าใดก็ยิ่งจะส่งผลทำให้คนๆนั้นมีรูปแบบความคิดลบสามอย่างตามมาเสมอนั่นคือ 1)#ตัวฉันแย่ 2)#สิ่งแวดล้อมของฉันแย่ และ 3)#อนาคตฉันก็แย่ การคิดเช่นนี้นอกจากจะส่งผลให้ชีวิตแย่ไปตามความคิดได้แล้ว ยังเป็น ปัจจัยสำคัญทำให้จิตใจหม่นมองจนอาจส่งผลให้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย

และคนที่มีรูปแบบความคิดลบเช่นนั้นมักจะมีความคิดบิดเบื่อนอีกรูปแบบหนึ่งคู่กันมาเสมอนั่นคือคิดว่าเรื่องแย่ๆในชีวิตมักจะขยายให้ใหญ่ๆเรื่องที่ควรภูมิใจมักจะให้คุณค่านิดเดียว(magnification/minimization) ดังนั้นหากต้องการจะแก้ไขความคิดให้ดีขึ้น ต้องรู้จักฝึกการให้คุณค่าที่ยิ่งใหญ่และความหมายที่ดีงามในชีวิตให้มากยิ่งขึ้นโดยมีหลักการสี่ข้อดังต่อไปนี้

1) #ฝึกคิดและพูดเพื่อชื่นชมตนเองเสมอ ว่า “ฉันเป็นคนดี ฉันมีคุณค่า ฉันมีความสามารถ ” โดยพูดประโยคนี้ซ้ำๆและเปล่งเสียงออกมาเฉกเช่นการสวดมนต์ก่อนนอนคืนละ 15 นาที ทำเช่นนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 15วันแล้วจะรู้สึกดีขึ้น (ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการจิตวิทยาnlp) เพราะความคิดการสื่อสารและการกระทำนั้นสัมพันธ์กันเสมอจะเริ่มเปลี่ยนแปลงที่จุดใดก็ได้ เพียงแต่ต้องทำแบบซ้ำๆเท่านั่นเอง

2) #ก่อนนอนทุกคืนให้คิดทบทวนความทรงจำดีดีที่เกิดขึ้นในชีวิตตั้งแต่วัยเด็กมาจนถึงปัจจุบัน เช่นการประสบความสำเร็จต่างๆ ในชีวิตตั้งแต่เรื่องง่ายๆไปจนถึงเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ทั้งชีวิตด้านความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว ชีวิตด้านการศึกษาและชีวิตด้านการทำงานตลอดจนปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมตลอดมา ให้คิดแล้วคิดอีกทบทวนแล้วทบทวนอีกในความทรงจำดีๆเหล่านั้น

3) #การบันทึกความทรงจำดีดีที่ชื่นใจ โดยเริ่มเขียนตั้งแต่วัยเด็กเป็นช่วงๆมาจนถึงปัจจุบัน การเน้นย้ำให้บันทึกแต่ความทรงจำในเรื่องดีๆที่ชื่นใจแล้วนำมาอ่านทบทวนเพื่อให้คุณค่าที่ยิ่งใหญ่และมองเห็นความหมายที่ดีงามครั้งแล้วครั้งเล่านั้น จะช่วยให้รู้สึกภาคภูมิใจในชีวิตยิ่งขึ้น

4)#ตั้งเป้าหมายในชีวิตทั้งรายวันรายสัปดาห์รายเดือนและรายปีให้ชัดเจน และหาวิธีการลงมือทำที่สัมพันธ์กับเป้าหมายนั้นๆ และลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ การมีเป้าหมายและได้พบความสำเร็จเป็นระยะๆนั้นจะทำให้เกิดความทรงจำดีๆและเห็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนั่นเอง ทั้งนี้หากมีที่ปรึกษาที่เป็นนักสุขภาพจิตและเข้าใจเรื่องดังกล่าวยิ่งจะช่วยทำให้การปรับความคิดมีประสิทธิผลรวดเร็วยิ่งขึ้น

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ไม่ว่าใครๆก็ตามหากลงมือคิดลงมือทำตามหลักการทั้งสี่ข้อที่ผู้เขียนกล่าวมา ก็จะช่วยให้มีความคิดและความรู้สึกที่เห็นคุณค่าและความหมายที่ดีงามต่อตนเองและบริบทในชีวิต จะส่งผลให้มีสุขภาพจิตดีมีพลังใจและพบความสำเร็จต่างๆในที่สุด

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพจิตสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ wuttipong academy ,ประธานมูลนิธิเอ็มพลัส ,กรรมการบริหารมูนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุงและประธานกองทุนกิจกรรมทางสังคมเพื่อสุขภาพจิต 12/สค/63

Recommended Posts