ติดสุรา เลิกได้ด้วยการเพิ่มพลังใจ

“คุณพยาบาลครับออกจากโรงพยาบาลครั้งนี้แล้วผมจะไม่กลับมานอนรักษาอีกนะครับ ผมมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้วครับว่าต้องเลิกสุราให้จงได้” นั่นเป็นพันธสัญญาจากปากผู้ป่วยสุขภาพจิตจากสารเสพสุราคนหนึ่งที่บอกกับพยาบาลที่ดูแลเขาก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลหลังจากที่อาการดีขึ้นแล้ว สิ้นเสียงพูดของผู้ป่วยพยาบาลจึงถามต่อว่า “มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจจึงสื่อสารเช่นนั้นคะ”

ผู้ป่วยตอบว่า “ผมจะเลิกดื่มสุราให้ได้เพื่อเป็นของขวัญให้ลูกชายคนแรกของผมที่กำลังจะขึ้นเป็นนายธนาคารครับ” นั่นเป็นเรื่องราวของผู้ป่วยคนหนึ่งที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวชนับ10ครั้งด้วยมีปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุราจนถึงขั้นมีอาการหูแว่วประสาทหลอนและมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และหลังจากที่ผู้ป่วยได้บอกกับพยาบาลเช่นนั้นแล้ว เขาก็ทำได้จริงๆโดยไม่กลับมารักษาซ้ำแบบผู้ป่วยในอีกเลย เพียงแค่มาตามแพทย์นัดและรับยาอย่างต่อเนื่องเท่านั้นเอง

“แรงบันดาลใจ”ให้ผู้ป่วยควรชี้ชวนผู้ป่วยให้พบเห็นความสำเร็จเป็นระยะๆ

ช่เพียงแต่ผู้ป่วยรายดังกล่าวเท่านั้น ยังมีผู้ป่วยอีกหลายรายที่รักษามานานหลายปี บอกกับทีมรักษาพยาบาลว่า ที่เขาเลิกดื่มสุราได้ก็ด้วยเกิดจากแรงบันดาลใจที่จะเลิกดื่มเพื่อใครบางคน เช่น เลิกดื่มให้เป็นของขวัญแก่ลูกสาวที่กำลังจะคลอดลูกและเพื่อรับขวัญหลานที่กำลังจะคลอด, เลิกดื่มเพื่อแม่เพราะทุกครั้งที่เมาสุราเขามักจะทำร้ายแม่โดยไม่รู้ตัว ,เลิกดื่มเพื่อเป็นของขวัญให้กับคุณหมอที่รักษาและดูแลเขาด้วยดีตลอดมา เพราะไม่ว่าเขาจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกี่ครั้งก็ตาม คุณหมอก็ไม่เคยด่าว่าบ่นใดๆจึงตัดใจจะต้องเลิกดื่มให้ได้ เพื่อเป็นของขวัญให้กับทีมคุณหมอ เป็นต้น นอกจากนั้นทีมรักษาพยาบาลยังได้ตั้งข้อสังเกตุอีกว่าผู้ป่วยที่สามารถเลิกสุราได้ส่วนมากมักจะมีญาติคอยดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งการมารับมาส่งโรงพยาบาลและมาเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงมีทัศนคติที่ดีต่อตัวผู้ป่วยอีกด้วย

นั่นคือเราพบว่าผู้ป่วยที่เลิกสุราได้เหล่านั้น ต่างก็ได้รับการรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพด้วยหลักการเดียวกันตลอดมา ถึงแม้ว่าจะแตกต่างกันไปในรายละเอียดของผู้ป่วยแต่ละคนก็ตาม และเมื่อนำหลักการสร้างพลังสุขภาพจิต (resilience) มาวิเคราะห์ก็พบว่า วิธีการสร้างพลังสุขภาพจิตห้าประการเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ป่วยเลิกดื่มสุราได้เป็นอย่างดี การสร้างพลังสุขภาพจิตมีหลักการ 5 ข้อดังต่อไปนี้

1) มีความรู้สึกดีและภาคภูมิใจในตนเอง
2) มีใครสักคน,สักกลุ่มที่เชื่อมั้นได้ว่า รักและจริงจังจริงใจต่อกันจริงๆแม้ในยามยากเข็น
3) มีการตั้งเป้าหมายในชีวิตทั้งเฉพาะกิจ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ว่า จะทำอะไร เพื่อใคร และทำอย่างไร
4) พบความสำเร็จในเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นระยะๆ
5) มีสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุน

ติดสุรา เลิกได้ด้วยการเพิ่มพลังใจ

นึ่งแนวทางการนำหลักการสร้างพลังสุขภาพจิตมาปรับใช้เพื่อเป็นการสร้างพลังใจแก่ผู้ป่วยสุขภาพจิตจากการติดสุราเพื่อใช้ควบคู่ไปกับการรักษาด้านร่างกาย(somatic) เพื่อให้เกิดประสิทธผลนั้นสามารถทำได้ดังต่อไปนี้

1) กระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้สึกดีและภาคภูมิใจต่อตนเองด้วยวิธีการดังนี้

1.1 สื่อสารกับผู้ป่วยด้วยกิริยาและวาจาที่สุภาพและเป็นมิตร ไม่แสดงกิริยาและวาจาที่ดูถูกเหยียดหยาม ต่อว่าด่าทอ ล้อเลียน เหน็บแนมและเย้ยหยันผู้ป่วย
1.2 โน้มน้าวให้ผู้ป่วยใคร่ครวญถึงการได้ทำหน้าที่และการงานต่างๆที่ผ่านมาตลอดจนการประสบความสำเร็จในชีวิตด้านต่างๆซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือทั้งในระดับบุคคลและสังคม
1.3 ชวนผู้ป่วยค้นหาคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่
1.4 แนะนำให้ญาติและบุคคลใกล้ชิดค้นหาข้อดีต่างๆในตัวผู้ป่วย
1.5 แนะนำและสอนญาติผู้ป่วยตลอดจนบุคคลใกล้ชิดให้กล่าวชื่นชมต่อผู้ป่วยในข้อดีต่างๆที่เขามี ทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นระยะๆ
1.6 กระตุ้นและสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้ทำงานหรือมีงานทำและร่วมกิจกรรมทางสังคมต่างๆตามความเหมาะสม

2) ช่วยผู้ป่วยคิดและแสวงหาใครสักคนหรือสักกลุ่มที่เขาเชื่อมั้นได้ว่ารักและจริงใจต่อเขาจริงๆแม้ในยามยากเข็น ดังนี้

2.1 ช่วยผู้ป่วยค้นหาบุคคลซึ่งอาจเป็นคนในครอบครัวสายเครือญาติ เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน ผู้ร่วมงาน หรืออื่นใดที่ผู้ป่วยรู้สึกได้ว่าเขาผู้นั้นหรือเหล่านั้นรักและจริงใจต่อเขาจริงๆ อันจะเป็นเกลียวใจและสายสัมพันธ์ที่เป็น “แรงบันดาลใจ”ต่อผู้ป่วยเพื่อช่วยให้เลิกดื่มสุราได้
2.2 แนะนำบุคคลที่ใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะบุคคลที่ผู้ป่วยเชื่อว่ารักและจริงใจต่อเขาจริงๆ ให้แสดงสีหน้าท่าทีและวาจาที่สุภาพและเป็นมิตรต่อผู้ป่วย ตลอดจนแสดงความชื่นชมยินดีในตัวผู้ป่วย และช่วยดูแลเอาใจใส่ต่อการรักษาของผู้ป่วยทั้งการมารับมาส่งมาเยี่ยมและการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอเมื่อกลับไปรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ตลอดจนอยู่เป็นเพื่อนผู้ป่วยตามความเหมาะสมในกิจกรรมต่างๆทั้งการทำงานและทางสังคม ตลอดจนถึงกิจกรรมนันทนาการต่างๆในชีวิตของผู้ป่วย

3) ตั้งเป้าหมายในชีวิต ประเด็นนี้ทีมรักษาพยาบาลและผู้ที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจต่อผู้ป่วยได้ตามข้อสองที่กล่าวมา ควรชวนผู้ป่วยให้ตั้งเป้าหมายในชีวิต ทั้งเป้าหมายที่จะเลิกดื่มสุราให้จงได้และเป้าหมายชีวิตด้านอื่นๆ กระทั่งต้องมีการตั้งเป้าหมายในใจให้ได้ว่า จะต้องเลิกดื่มสุราให้ได้เพื่อใครและเพื่ออะไร และเมื่อไหร่ เมื่อชัดเจนในเป้าหมายแล้ว ต้องชวนผู้ป่วยให้ใคร่ครวญถึงวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวว่าจะทำได้ด้วยวิธีการอย่างไร เช่น ผู้ป่วยต้องเข้มงวดและมีวินัยต่อการปฏิบัติตนในกระบวนการรักษาอย่างไร เป็นต้น

4) พบความสำเร็จเป็นระยะๆ ประเด็นนี้ผู้ให้การรักษาและผู้ใกล้ชิดที่เป็น”แรงบันดาลใจ”ให้ผู้ป่วยควรชี้ชวนผู้ป่วยให้พบเห็นความสำเร็จเป็นระยะๆ เช่น ผูป่วยเลิกดื่มสุราได้นานขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยมีความพยายามขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น และควรกล่าวชื่นชมในทุกความสำเร็จนั้นๆด้วยเสมอ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความภูมิใจและรู้สึกดีต่อตนเองขึ้นเรื่อยๆ ตามหลักการข้อ1 อีกด้วย

5) มีสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุน ทีมรักษาพยาบาลควรมีส่วนชี้ชวนและช่วยให้ผู้ป่วยค้นหาสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนทั้งญาติ บุคคลใกล้ชิด เพื่อน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ผู้นำชุมชน ชมรม สมาคม สโมสร มูลนิธิ และสถาบันทั้งทางวิชาชีพและวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สามารถเกื้อหนุนต่อตัวผู้ป่วยให้สามารถเลิกดื่มสุราได้

หากผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุรา ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและได้รับการกระตุ้นเร้าให้เกิดพลังใจหรือพลังทางสุขภาพจิต5ประการดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยใส่ใจและตั้งใจที่จะปฏิบัติตนอย่างมีวินัยต่อกระบวนการรักษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเลิกดื่มสุราได้ยาวนานขึ้นจนบางรายอาจเลิกดื่มได้เด็ดขาดในที่สุด

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตและนักพัฒนาคุณภาพมนุษย์แบบสหศาสตร์ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ Wuttipong Academy Bangkok และกรรมการบริหารมูลนิธิสงเคราะห์ผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาลสวนปรุง

Recommended Posts