ภารกิจจิตอาสาแก้ปัญหาฆ่าตัวตายแบบฉับไว

เย็นวันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ผู้เขียนได้โทรศัพท์นัดหมายกับช่างตัดผมประจำตัวเพื่อเดินทางไปตัดผมที่ร้านของเขาที่อำเภอสารภี และขณะตัดผมไปได้ครึ่งศีรษะ ช่างทำผมก็พูดขึ้นว่า “คิดถึงอยู่น๊ะและอยากจะปรึกษาเรื่องมีเพื่อนบ้านในหมู่บ้านมาเล่าให้ฟังว่า คุณ…โทรศัพท์และไลน์ไปหาญาติและคนสนิทว่าเขาไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้วและฝากฝังแม่กับญาติคนอื่นๆของเขาด้วย เราจะช่วยเขาอย่างไรดี

ห้ามคิดว่าเขาจะไม่ทำจริง
ต้องคิดว่าเขาจะทำจริงๆ

ช่ างทำผมบอกกับผู้เขียนว่า เขาจำได้ว่าเคยได้ยินผู้เขียนเล่าให้ฟังทั้งยังเคยเห็นผู้เขียนโพสท์ทางเฟสบุ๊คเรื่อง สัญญาณเตือนของผู้ที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายว่า #มักจะสื่อสารสั่งเสียฝากฝังและสั่งลา และต้อง #ช่วยแบบฉับไว แต่เขาไม่รู้ว่าจะคุยกับผู้ที่ทุกข์ใจอย่างไร ญาติก็ไม่กล้าคุยด้วยและไม่รู้ว่าจะชวนไปหาจิตแพทย์ว่าอย่างไร จึงดีใจมากที่มาทำผมในวันนี้

ผู้เขียนขอให้ช่างทำผมโทรศัพท์หาผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายและญาติของเขาเพื่อจะให้การปรึกษาที่ร้านทำผม แต่ก็ติดต่อไม่ได้ จนกระทั่งทำผมเสร็จ ผู้เขียนจึงได้ชวนช่างทำผมไปเยี่ยมเขาที่บ้าน เพราะช่างทำผมเองก็รู้จักกับเขาดี เมื่อไปถึงที่บ้านผู้เขียนก็สนทนาด้วยจึงได้ความดังนี้

เธอเป็นหญิงโสดวัย52ปี ประมาณ3สัปดาห์ผ่านมาจนถึงวันนี้เธอมีความทุกข์ใจมาก ไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อม เก็บตัว เครียดมาก วิตกกังวล นอนไม่หลับ รู้สึกเศร้าใจจนอยากจะฆ่าตัวตาย และได้บอกลากับญาติและคนที่รู้จัก กระทั้งฝากฝังแม่ไว้กับน้องสาวด้วยและคิดจะฆาตัวตายด้วยการขับมอเตอร์ไซค์ลงสะพานและคิดจะกินยาฆ่าตัวตาย

ภารกิจจิตอาสาแก้ปัญหาฆ่าตัวตายแบบฉับไว

ลังจากสนทนาให้การปรึกษาประมาณ30นาที ผู้เขียนและช่างทำผมจึงชวนเขาไปพบจิตแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนที่เขาใช้สิทธิประกันสังคมอยู่ เขายอมไปด้วยแต่โดยดี เมื่อถึงโรงพยาบาลจิตแพทย์ตรวจและพูดคุยด้วยพักหนึ่งก็วินิจฉัยว่า มีอาการซึมเศร้าแบบเฉียบพลันและแนะนำวิธีปฏิบัติตนพร้อมทั้งให้ยาต้านอาการเศร้าและลดความวิตกกังวลมารับประทาน และอีกสามสัปดาห์นัดให้กลับไปพบหมออีกครั้ง

ขณะขับรถส่งเขากลับบ้าน ผู้เขียนแนะนำทั้งช่างทำผมและผู้ป่วย เกี่ยวกับวิธีดูแลตัวเองตามหลัการทางสุขภาพจิต และการดูแลซึ่งกันและกัน ตามหลักการสร้าง พลังสุขภาพจิต5ประการ พร้อมขับรถนำส่งถึงบ้านด้วยความเรียบร้อย และแนะนำช่างทำผมเกี่ยวกับวิธีการติดตามดูแลผู้ป่วยรายนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป เป็นอันว่ารอดตายไปอีกหนึ่งรายครับ

หลักการสำคัญในการช่วยเหลือและป้องกันการฆ่าตัวตายคือ เมื่อจับสัญญาณเตือนคือการสั่งเสียฝากฝังและสั่งลาในรูปแบบต่างๆได้แล้ว ผู้ใกล้ชิดต้องให้การช่วยเหลือ “แบบฉับไวจริงจังจริงใจจนถึงมือหมอ” ส่วนใหญ่ที่ช่วยไม่ทันนั้นเกิดจาก ไม่เข้าใจ,ไม่ใส่ใจ,ไม่รู้จะช่วยอย่างไร,และที่สำคัญคือมักจะไม่ฉับไวจึงล่าช้าและชล่าใจ ทั้งยังคิดว่าเขาจะไม่ทำจริง สุดท้ายพบอีกทีก็มักจะมรณะไปเสียแล้ว

หลักการที่กล่าวมา ต่างก็สำคัญทั้งสิ้น ทั้งยังต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อการบำบัดรักษาด้านจิตใจอีกด้วย กล่าวคือ อย่ามองว่าเขาเรียกร้องความสนใจแต่ให้มองว่าเขาร้องขอความช่วยเหลือ จึงต้องรีบช่วยเหลือด้วยความฉับไว และห้ามคิดว่าเขาจะไม่ทำจริง ต้องคิดว่าเขาจะทำจริงๆ จึงจะนำมาสู่การช่วยเหลืออย่างฉับไวใส่ใจจนส่งถึงมือหมอนั่นเอง

เรื่องนี้หากจะเปรียบเปรยให้เข้าใจง่ายๆก็คล้ายๆกับเพื่อนของเราปวดท้องปวดหัวอย่างรุนแรงแล้วร้องขอความช่วยเหลือนั่นเอง จึงต้องรีบช่วยทันทีไม่มีรีรอใดๆทั้งสิ้น ดังเช่นที่ผู้เขียนและช่างทำผมได้ช่วยกันแบบฉับไวจริงจังจริงใจจนส่งถึงมือหมอนั่นเอง และขอเรียนย้ำว่าภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายนั้น ใครๆก็ช่วยกันได้ง่ายนิดเดียว หากมีใจที่จะช่วยด้วยความฉับไว

การช่วยเหลือคนให้รอดพ้นจากการฆ่าตัวตาย ก็คือการช่วยเหลือคนไม่ให้เกิดการฆาตรกรรมนั่นเอง ในทางพุทธปรัชญาถือว่าคนที่ฆ่าตัวตายก็คือคนที่อาฆาตพยาบาทตนเองนั่นเอง หากไม่ให้อภัยตนเองก็จะอาฆาตและกระทำเช่นนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายภพหลายชาติ ยากจะสิ้นสุด ดังนั้นหากช่วยได้ในภพนี้ก็เท่ากับชีวิตผ่านบททดสอบไปได้เป็นอย่างดีไม่มีติดข้ามไปภพต่อไป ส่วนคนที่ช่วยคนให้พ้นทุกข์จากการคิดฆ่าตัวตายก็ถือว่าได้ทำบุญที่ยิ่งใหญ่ไปอีกหลายภพนั่นเอง เพราะฉะนั้นมาร่วมกันช่วยเหลือกันและกันเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายกันเถิดครับ

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตและนักพัฒนาคุณภาพมนุษย์แบบสหศาสตร์ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ Wuttipong Academy Bangkok และกรรมการบริหารมูลนิธิสงเคราะห์ผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาลสวนปรุง

Recommended Posts