รู้ทันสันตติเพื่อสันติของชีวิตที่ยั่งยืน

#สันตติ ปิดบังอนิจจังหมายความว่าอะไรครับ? นั่นเป็นคำถามที่กัลยาณมิตรของผู้เขียนท่านหนึ่งถามมา เช่นเดียวกับอีกท่านหนึ่งถามมาว่า #สันตติ สร้างมายาคติต่อชีวิตอย่างไร? และจะเข้าใจพร้อมทั้งรู้เท่าทันสันตติได้อย่างไร ? ทั้งหมดล้วนเป็นคำถามที่ดียิ่งและจะนำมาสู่การเข้าใจชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมเป็นอย่างดี และ #ทั้งหมดนี้จะเข้าใจได้ด้วยการคิดพิจารณาอย่างแยบคายและการเจริญภาวนาครับ

#สันตติ เป็นภาษาบาลีแปลว่าความสืบเนื่องหรือต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย หากไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริงก็มักจะยึดติดในกายในจิตและทุกสรรพสิ่งว่าเป็นของเที่ยงแท้ นำมาสู่ความทุกข์จากการยึดติดและไม่เข้าใจชีวิตอย่างแท้จริง ด้วยเพราะทุกสรรพสิ่งอยู่อย่างสืบเนื่องทั้งสิ้น เพียงแต่ประสาทสัมผัสทั้ง5คือ ตา,หู,จมูก,ลิ้นและกายสัมผัส มิอาจรับรู้ความสืบเนื่องนั้นได้อย่างประจักษ์และละเอียดแยบยลเท่านั้นเอง

#หลอดไฟ ที่เราเห็นว่าคงเที่ยงนิ่งสว่างจ้าอยู่นั้น ความจริงก็มิได้เที่ยงสว่างอยู่เช่นนั้นเลย แต่เป็นกระแสที่กระพริบอย่างสืบเนื่องกันอยู่เช่นนั้นเองประมาณ50-60ครั้งต่อวินาที เช่นเดียวกันกับ #ฟิล์มภาพยนตร์ เมื่อเราดูหนังแล้วเห็นนักแสดงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเรื่องนั้น ก็เป็นแค่เพียงภาพมายาที่เป็นการเคลื่อนไหวสืบเนื่องอย่างรวดเร็วของฟิล์มหนังด้วยความถี่16-24ภาพต่อวินาทีเท่านั้นเอง

#ควรใช้ความรักเพื่อการสร้างสรรค์ต่อชีวิต

ณะที่แวดวงวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ทราบกันดีว่า #เซลล์ ในร่างกายของคนเรานั้นเกิดตาย ตายเกิด หลายร้อยล้านเซลล์ อยู่ทุกๆวินาที ด้วยเซลล์เหล่านั้นเป็นส่วนประกอบที่เล็กที่สุดของร่างกาย แม้ในหนึ่งเซลล์ก็ยังมีอวัยวะขนาดจิ๋วที่เป็นส่วนประกอบอีกถึง10ชนิดเช่นโรโบโซม,ลัยโซโชมเป็นต้น โดยมีนิวเคลียสเป็นอวัยวะที่ควบคุมการทำงานทุกอย่างของเซลล์รวมถึงดีเอ็นเอที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดพันธุกรรม ซึ่งเซลล์เหล่านี้ก็มีการเคลี่อนไหวสืบเนื่องเป็นสันตติแบบ เซลล์เก่าตาย เซลล์ใหม่เกิดแทน อยู่เช่นนั้นเอง

ในขณะที่วิชา #อภิธรรม ในพุทธศาสนาก็ได้อธิบายการทำงานของจิตคนเราว่า มีการ เกิดขึ้น,ตั้งอยู่,ดับไป (อุปาทะ,ฐิติ,ภังคะ) สืบเนื่องเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลาซึ่งมีจิตทั้งหมดอยู่121ดวงโดยพิศดารและ89ดวงโดยปกติ พร้อมด้วยสิ่งประกอบจิตที่เรียกว่าเจตตสิกอีก52ลักษณะ ทั้งหมดนี้เป็นนามธรรมที่ เกิดดับ ดับเกิด อยู่ตลอดเวลา รวดเร็วเสียยิ่งกว่าการกระพริบของกระแสไฟและความต่อเนื่องของฟิล์มหนังหลายล้านเท่า เราจึงมิอาจเข้าถึงและแยกแยะด้วยสายตาได้ แต่จะเข้าถึงได้ด้วยการเจริญภาวนาเท่านั้น

อนึ่งการเกิดดับ ดับเกิดของจิตตลอดเวลานั้นเรียกว่า “ขณิกมรณะ “คือความตายทุกขณะจิตนั่นเอง ดังนั้นแท้จริงแล้วเซลล์หรือกายเราก็เกิดตาย ตายเกิด ส่วนจิตเรานั้นก็เกิดดับ ดับเกิด สืบเนื่องอยู่ตลอดเวลาทุกๆวินาทีและทุกลมหายใจเข้าออก และนี้เป็นการอธิบายพอให้เข้าใจในระดับของการคิดใคร่ครวญเท่านั้นหรืออาจเรียกว่าระดับ”จินตามยปัญญา” ซึ่งความจริงความเข้าใจในระดับนี้มีความเป็นวิทยาศาสตร์รองรับอยู่มากทีเดียว

ส่วนการเข้าใจอย่างเข้าถึงในการเกิดดับของจิตนั้น จะเข้าถึงได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน4 ซึ่งเป็นการเฝ้าดู มุ่งรับรู้อาการของกายของจิตและเวทนา จนรับรู้เชิงประจักษ์ได้จากภายในตน ด้วยเห็นการ เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป อย่างสืบเนื่องตลอดเวลาทั้งจิตและเวทนา เมื่อนั้นจะเกิดปัญญาในระดับที่เรียกว่า”ภาวนามยปัญญา” เป็นความรู้ตัวทั่วพร้อม(สัมปชัญญะ)อยู่ตลอดเวลา เป็นปัญญาทางธรรมอย่างแท้จริง

รู้ทันสันตติเพื่อสันติของชีวิตที่ยั่งยืน

ส่งผลให้เราไม่ยึดติดในกายในจิต แต่กลับรู้เท่าทันความเป็น #สันตติ และความเป็น #อนิจจัง คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอน กระทั่งเข้าใจว่าแท้จริงแล้วทุกชีวิตและทุกสรรพสิ่งอยู่ในรูปขององค์ประกอบทั้งสิ้น (ดังที่ผู้เขียนอธิบายเรื่องเซลล์ผ่านมาแต่ต้น) และนั่นคือทุกชีวิตและทุกสรรพสิ่งมีความเป็นกลุ่มก้อน (#ฆนะสัญญา) ซึ่งเป็นลักษณะและรูปแบบชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็คงอยู่และเมื่อเหตุปัจจัยไม่พร้อมก็สูญสลายไปเป็นธรรมดา นั่นเพราะความเป็น #อนัตตา การเข้าใจเช่นนี้จะนำมาสู่ความสงบสุขและการดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง

ดังนั้นคำว่า #สันตติ ปิดบังอนิจจังก็คือ สภาวะสืบเนื่องอย่างละเอียดรวดเร็วและแนบแน่น ที่ทำให้คนเราไม่เห็นความไม่เที่ยง(อนิจจัง)และเข้าใจว่าทุกสรรพสิ่งเป็นความเที่ยง(นิจจัง) จึงยึดมั้นถือมั้นว่ามันเป็นของเที่ยง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นทุกข์ ด้วยหลงยึดติดในมายาคติทางโลกที่ลวงตาและลวงปัญญาเราอยู่นั่นเอง เมื่อเข้าใจสิ่งนี้ดีแล้วจิตเราจะโปร่งเบาเป็นกลางๆและเปี่ยมเมตตาต่อทั้งตนเองและผู้อื่นในที่สุด

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบสหศาสตร์, ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ Wuttipong Academy Bangkok, กรรมการบริหารและประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง, Best Practice Award 2017 สาขาวรรณกรรมเพื่อส่งเสริมสังคม

Recommended Posts