รู้สึกอย่างใดได้อย่างนั้น หนึ่งในโปรแกรมรหัสลับทางจิตพิชิตความสำเร็จ

thinking

คำว่า “รู้สึกอย่างใดได้อย่างนั้น” อาจไม่ค่อยคุ้นหูผู้อ่านนัก เพราะคนส่วนใหญ่มักพูดว่า “คิดอย่างใดได้อย่างนั้น” หรือ “ทำอย่างใดได้อย่างนั้น” แต่หารู้ไม่ว่าพลังของความรู้สึกนั้นยิ่งใหญ่และหยั่งรากฝังลึกสู่จิตใต้สำนึกและจิตวิญญาณของคนเรายิ่งกว่าการคิด นักโทษส่วนมากมักให้การว่า ขณะทำการฆาตกรรมหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่นนั้น เกิดการบันดาลโทสะเกินกว่าจะยับยั้งได้ จึงทำลงไปโดยขาดสติ นี่ก็คือตัวอย่างหนึ่งของการรู้สึกอย่างใดได้อย่างนั้น นั่นคือรู้สึกโกรธแค้นซึ่งเป็นความรู้สึกฝ่ายลบก็ส่งผลให้พฤติกรรมออกมาทางลบเช่นกัน

หากไร้ซึ่งความรู้สึกที่ดีระหว่างกัน
คงเป็นไปไม่ได้เลยที่คนเรา
จะใช้ตรรกะอันชาญฉลาด
ในการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

ามีภรรยาหลายคู่ที่ทะเลาะเบาะแว้ง จนเป็นเหตุให้หย่าขาดจากกันก็ด้วยภรรยารู้สึกหึงหวงและหวาดระแวง ตามติดตามเช็คพฤติกรรมสามีทุกที่ทุกทางทุกอย่างที่เขาเป็นและเขาไปด้วยความรู้สึกหวาดระแวง เมื่อพูดกันไม่รู้เรื่องจึงทะเลาะตบตีกันถึงขั้นหย่าขาดก็พบอยู่เป็นประจำ นั่นคืออีกตัวอย่างหนึ่งของการรู้สึกอย่างใดได้อย่างนั้น #นั่นคือรู้สึกหึงหวงและหวาดระแวงเป็นเหตุให้ขัดแย้งจนนำไปสู่การหย่าขาดนั่นเอง

thinking2

ทีมนักกีฬาที่มักได้รับชัยชนะสม่ำเสมอ ในแง่จิตวิทยาการกีฬา มักจะพบว่าเป็นทีมที่มีความรักความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจึงมุ่งมั่นฟันฝ่าจนมีชัยครั้งแล้วครั้งเล่าก็เกิดจากรู้สึกอย่างใดได้อย่างนั้น นั่นคือรู้สึกรักและสามัคคีจึงมีชัยชนะอยู่ร่ำไป นักดนตรีชื่อดังก็ล้วนเกิดจากรู้สึกชื่นชมยินดีในเสียงดนตรีจนเกิดแรงบันดาลใจอยากเรียนและลงมือฝึกซ้อมจนเป็นนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จ คนร่ำรวยส่วนใหญ่ก็จะชื่นชมยินดีในความมั่งคั่งร่ำรวยเงินทองจึงส่งผลให้เกิดแรงบันดาลใจใฝ่เรียนรู้แสวงหาวิธีการสู่ความร่ำรวยและมั่งคั่ง จนประสบความสำเร็จก็ล้วนเกิดจากรู้สึกชื่นชมยินดีในความมั่งคั่งร่ำรวยนั้นเอง

แล้วเราควรจะสร้างความรู้สึกกันอย่างไร? ก็สร้างแต่ความรู้สึกในทางที่ดีงามนั่นคือความรู้สึกชื่นชมและปีติยินดีในสิ่งที่ตนเองอยากได้ อยากมี อยากเป็น จึงจะได้สิ่งนั้น เช่น อยากเป็นหมอก็ต้องชื่นชมยินดีในหมอ อยากเป็นวิศวกรก็ต้องชื่นชมยินดีในวิศวกร อยากเป็นนักกีฬาก็ต้องชื่นชมยินดีในการกีฬาและนักกีฬา อยากเป็นนักบินก็ต้องชื่นชมยินดีในการบินและนักบิน อยากเป็นนักเขียนก็ต้องชื่นชมยินดีในการอ่านการเขียนและนักเขียน อยากเป็นคนมั่งคั่งร่ำรวยก็ต้องชื่นชมยินดีในเงินทองและคนร่ำรวย

ตัวอย่างทั้งหลายดังกล่าวมาล้วนผลักดันออกมาจากพลังความรู้สึกมากกว่าพลังทางความคิด คนส่วนใหญ่มักนำเสนอแต่วิธีคิดอย่างนั้นอย่างนี้ เชื่อว่าทุกท่านเคยได้อ่านได้เห็นได้ยินกันมาจากการอบรมและร่ำเรียนกันมามากมาย แต่ไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องวิธีรู้สึก ซึ่งเป็นสาระเชิงลึก ที่ต้องฝึกปรับเปลี่ยนวิธีรู้สึกไม่ใช่แค่เปลี่ยนวิธีคิด ถึงแม้ความคิดและความรู้สึกจะสัมพันธ์กันอยู่ก็ตาม แต่สาระเชิงลึกจึงขึ้นอยู่กับ “#รู้สึกอย่างใดได้อย่างนั้น”

ความชื่นชมยินดีต่อสิ่งต่างๆที่ตนเองรู้สึกชื่นชอบอย่างยิ่งยวดจนอาจถึงขั้นหลงใหลคลั่งไคล้ จะมีพลังภายในส่งผลให้เกิดแรงบันดาลใจมุ่งมั้นฟันฝ่าจนใฝ่เรียนรู้และหาลู่ทางไปสู่ความสำเร็จในการเป็นการได้ในสิ่งที่ตนเองรู้สึกชื่นชมยินดี ในทางตรงกันข้ามเมื่อรู้สึกในทางลบ เช่น ซึมเศร้าร้าวรานใจ น้อยใจ โกรธแค้น เบื่อหน่าย วิตกกังวล อาฆาตพยาบาท หวาดระแวงก็จะส่งผลให้จิตใจเศร้าหมองและวิตกกังวลจนได้รับผลลัพธ์ในทางลบเช่นกัน

คนจำนวนไม่น้อยอยากได้ อยากมี อยากเป็นในสิ่งนั้นๆ แต่พูดและรู้สึกตรงกันข้ามหรือรู้สึกลบต่อสิ่งที่ตนเองต้องการจึงมักไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เช่น อยากมีแฟนหล่อแต่บอกว่าไม่ชอบคนหล่อ อยากรวยแต่เกลียดคนรวย อยากเป็นนักกีฬาแต่ไม่ชอบกีฬา อยากขับรถเก่งแต่เกลียดการเดินทาง อยากเป็นนักเขียนแต่ไม่ชอบอ่านชอบเขียน เป็นต้น นั่นคือเมื่อรู้สึกตรงกันข้ามกับสิ่งที่อยากได้อยากเป็น พลังแห่งความรู้สึกจะประทับจำก็จะไม่ให้ได้ ไม่ให้มี ไม่ให้เป็นในสิ่งที่ต้องการเช่นกัน

โปรแกรมความรู้สึกอย่างใดก็จะได้อย่างนั้น ปัจจุบันมีหนังสือและหลักสูตรการอบรม ไม่น้อยที่เชื่อมั่นในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นจริง และมีผู้ทำแล้วประสบความสำเร็จมากมายในสิ่งที่ตนเองต้องการ เช่นหลักสูตรการอบรมเกี่ยวกับ NLP (Neuro-Linguistic Program) และแม้แต่หลักสูตรที่ผู้เขียนสังเคราะห์ขึ้นจากวิทยาการหลายศาสตร์ชื่อว่าหลักสูตรการจัดการความรู้สึกบวกสู่ความสำเร็จ (Positive Feeling Management) และหลักสูตร “#ไขรหัสลับปรับโปรแกรมจิตพิชิตความสำเร็จ” #ผู้เขียนก็เน้นสร้างความรู้สึกดีๆควบคู่ไปกับการคิดบวกเช่นกัน

ในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ สมองอ่านภาษาความรู้สึกมากกว่าภาษาโดยสมมุติทางโลก แล้วส่งผลให้เกิดการกระทำตามนั้น ภาษาโดยสมมติทางโลก เช่น ภาษาไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ สมองอ่านไม่ออกอย่างแท้จริง แต่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาแท้จริงเบื้องลึกเราสื่อสารกันด้วยภาษาความรู้สึก ดังเช่นสตีเฟ่น อาร์.โควีย์ (Stephen R. Covey) นักคิดนักเขียนชื่อดังก้องโลกได้กล่าวไว้ว่า “คนเรามักจะแสดงออกโดยใช้ความรู้สึกมากกว่าใช้วิจารณญาณ หากไร้ซึ่งความรู้สึกที่ดีระหว่างกันคงเป็นไปไม่ได้เลยที่คนเราจะใช้ตรรกะอันชาญฉลาดในการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน” นอกจากนั้นเขายังกล่าวอีกว่า “#ความรู้สึกต่อต้านคือปมของหัวใจมิใช่ปมของความคิด”

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้เราควรตระหนักได้ว่า หากต้องการความสำเร็จและรุ่งเรืองดีงามทั้งชีวิตส่วนตัว ครอบครัว หน้าที่การงาน การเงิน ความสัมพันธ์ และสุขภาพ ควรเลือกที่จะมีความรู้สึกดีๆ ต่อทุกสรรพสิ่งในชีวิต โดยเฉพาะรู้สึกชื่นชมยินดีในเป้าหมายและความหวังของแต่ละคนที่ตั้งไว้ เมื่อนั้นความสุขและสำเร็จก็จะเป็นของเราอย่างเหมาะสมและงดงาม

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts