ชื่นชมจนภูมิใจและเปลี่ยนไปในทางดี

runaway-from-home-1

คุณตาวัย 60 ปี ท่านหนึ่งมาปรึกษากับผู้เขียนด้วยกลุ้มใจกับพฤติกรรมของหลานสาววัย 15 ปี ที่ดื้อรั้นชอบหนีออกจากบ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะวันเสาร์วันอาทิตย์หนีไปนอนบ้านเพื่อนชายบ้างเพื่อนสาวบ้าง คุณตาโทรศัพท์ติดตามหลาน หลานก็ไม่รับสาย ทั้งตายายและแม่ของเด็กสาวก็กลุ้มใจและมีทัศนะในทางลบกับหลานสาว สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย หลานสาวก็หนีเรียนและหนีออกจากบ้านมากขึ้น

นั่ ผู้เขียนได้แนะนำให้คุณตาคุณยายค้นหาคุณงามความดีของหลานสาวให้พบมากที่สุด และนำกลับมาชื่นชมหลานของตนทุกวัน วันละอย่างน้อย 10 เรื่อง 10 ครั้ง และให้คุณตาค้นหาคุณงามความดีของพ่อแม่ของหลานสาว พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมบุคคลเหล่านั้นให้หลานสาวฟัง และให้ขยายการรู้สึกสำนึกในคุณค่าของบุคคลในครอบครัวและบรรพบุรุษทุกท่านให้พบมากที่สุด และแสดงความชื่นชมให้หลานสาวฟังอีกเช่นกัน

runaway-from-home-2

หลังจากที่คุณตาคุณยายได้เริ่มปฏิบัติอย่างจริงจังในสัปดาห์แรก ด้วยความฝืนใจและไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยปฏิบัติเช่นนั้น ประมาณวันที่ 9 ของการปฏิบัติ คุณตากลับมาพบผู้เขียนอีกครั้ง และบอกกับผู้เขียนว่าวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นวันที่หลานสาวไม่หนีออกจากบ้าน อยู่บ้านด้วยท่าทางมีความสุข เจียวไข่รับประทานเอง ให้ข้าวแมว รดน้ำต้นไม้และร้องเพลงเบาๆ ไปด้วย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่คุณตาไม่พบอย่างนี้มาประมาณ 3 ปี ตั้งแต่หลานเริ่มย่างเข้าวัยสาว

อีกสัปดาห์ถัดมาคุณตาโทรศัพท์มาเล่าให้ผู้เขียนฟังอีกว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาหลานออกจากบ้านไปนอนบ้านเพื่อน เมื่อคุณตาโทรศัพท์ไปหาไม่ว่าจะเป็นตอนกลางวันหรือกลางคืน หลานจะรับโทรศัพท์ของคุณตาทุกครั้ง ซึ่งก็เป็นประกฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 3 ปีเช่นกัน นอกจากนั้นคุณครูประจำชั้นยังโทรศัพท์มาบอกคุณตาว่า ระยะหลังๆ นี้ หลานสาวสนใจการเรียนมากขึ้น ส่งงานทุกครั้งที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยปรากฏเช่นนี้เหมือนกัน นั่นคือความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่คุณตาวัย 60 ปี เล่าให้ผู้เขียนฟังด้วยความปีติยินดี จากพลังของการชื่นชม

เช่นเดียวกับอีกเหตุการณ์หนึ่งที่คุณแม่วัย 40 พร้อมลูกชายวัย 15 ปี มักจะทะเลาะกัน เป็นประจำจนกระทั่ง 1 ปีผ่านมา ลูกชายมักจะเก็บตัวอยู่ในห้องนอนเป็นประจำหลังจากเลิกเรียน ลูกชายมักจะสื่อสารก้าวร้าวกับแม่ จนบางครั้งไม่พูดกับแม่หลายวัน
คุณแม่คนดังกล่าวเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ทุกวันนี้อยู่กับลูกชายสองคน เพราะเลิกกับสามีตั้งแต่ลูกชายยังเล็กและเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง มีเงินทองซื้อทุกสิ่งทุกอย่างให้ลูก พร้อมมีที่อยู่อาศัยหลังใหญ่โต ด้วยเธอมีอาชีพเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เธอเล่าให้ฟังว่า เธอรักและเป็นห่วงลูกชายมากเพราะมีลูกเพียงคนเดียว สามีก็ไม่มี ลูกจึงเป็นความหวังความฝันและที่พึ่งทางใจของเธอ เธอจะจ้ำจี้จ้ำไชเรื่องการเรียนและความประพฤติทุกอย่างของลูกชาย เพราะอยากให้ลูกเป็นคนเก่งและเป็นคนดี ไม่เคยชื่นชมลูกเพราะลูกเรียนไม่เก่ง บางเทอมได้เกรด 1 กว่า จึงไม่รู้จะชมอะไร มีแต่จี้ย้ำให้ลูกอ่านหนังสือและเรียนพิเศษให้มากขึ้น

แต่เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสพบลูกชายของเธอ กลับได้รับข้อมูลว่าแม่จุกจิกจู้จี้กับเขามากจนเขาไม่เป็นตัวของตัวเอง และสำคัญที่สุดคือแม่ตำหนิติเตียนลูกเป็นประจำ ห้ามโน้นห้ามนี่ไปหมด ยิ่งเมื่อผลสอบบางวิชาได้เกรด 0 แม่ยิ่งตอกย้ำและกดดันให้เขารู้สึกทุกข์ใจมากยิ่งขึ้น ลูกชายจึงไม่อยากพบแม่

ภายหลังคุณแม่คนดังกล่าวมาพบกับผู้เขียน ผู้เขียนจึงแนะนำให้เปลี่ยนวิธีการสื่อสารกับลูกด้วยการค้นหาความดีของลูกให้พบมากๆ แล้วนำมาชื่นชมแทนการตำหนิติเตียน ผู้เขียนแนะนำและฝึกวิธีการชื่นชมให้แก่เธอจนสามารถทำได้และชื่นชมลูกให้สม่ำเสมอ
หลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือน เธอโทรศัพท์มาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ลูกชายมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป แสดงออกกับเธอดีขึ้น เช่น นั่งรับประทานอาหารกับแม่ พูดคุยกับแม่ หยอกเล่นกับแม่ ความสัมพันธ์โดยรวมสองแม่ลูกดีขึ้นตามลำดับ และแม้แต่ผลการเรียนในเทอมถัดมาก็ดีขึ้นด้วย นี่แหละคือผลลัพธ์พลังแห่งการชื่นชม

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts