#ทำใจ และ #ธรรมใจ สู้ภัยโควิด

p

“ผมกลุ้มใจมากเลยครับ ผมเคยเป็นมัคคุเทศก์ต่างประเทศที่รับลูกค้าโดยใช้ทั้งภาษาอังกฤษฝรั่งเศสและสเปนมีรายได้เดือนละประมาณสามแสนบาท มาถึงตอนนี้หลังโควิดระบาดผมไม่มีรายได้อีกเลย จะทำอย่างไรดีครับอาจารย์” ผู้เขียนตอบไปว่า “#ทำใจครับ

“อาจารย์คะหนูกลุ้มใจมากเลยค่ะ ตั้งแต่โควิดระบาดจนกระทั่งถึงบัดนี้ รายได้จากรีสอร์ทที่เคยมีตอนนี้ก็ไม่มีรายได้เลยและยังเป็นหนี้ธนาคารที่กู้มาเพื่อสร้างรีสอร์ทและสปาอีกต่างหากกลุ้มใจเหลือเกินค๊ะ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี” ผู้เขียนตอบไปว่า “#ทำใจครับ”

นั่นเป็นข้อความเพียงบางส่วนที่กัลยาณมิตรของผู้เขียนปรึกษาเข้ามาช่วงที่โควิดระบาดและผู้เขียนก็ตอบเขาไปเช่นนั้นจริงๆว่าให้ “#ทำใจครับ” การที่ผู้เขียนตอบเช่นนั้นใช่เป็นการยั่วยวนกวนประสาทแต่อย่างใด แต่เป็นการตอบจากความคิดเห็นตามความเป็นจริงของโลกธรรมนั่นคือมีสุขก็มีสิ่งเป็นของตรงกันข้ามคือมีทุกข์อยู่เช่นนั้นเอง ยามใดเกิดความแปรปรวนไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจไว้ก็รู้สึกเป็นทุกข์นั่นเอง

คำว่า”#ทำใจ”#ในความหมายของผู้เขียนนั้นคือการมองด้วยใจที่เห็นธรรม กล่าวคือปรับจิตปรับใจให้เป็นกลางๆ มองเห็นทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา เป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์เช่นนั้นเองและเมื่อมนุษย์ทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้จึงไร้ความทุกข์ใจในที่สุด และนี้คือการทำใจในทางธรรม

เมื่อทำใจในทางธรรมเรียบร้อยแล้วก็พึงหันมาทำใจในทางโลกห้าข้อดังต่อไปนี้นั่นคือ
1) #รู้สึกดีและมองเห็นสิ่งดีๆที่ตนเองยังมีอยู่ การมองเห็นสิ่งดีๆและรู้สึกดีต่อตนเองนั้นทำให้ตัวเราเกิดความภาคภูมิใจ อิ่มเอิบใจมีพลังจากภายในอยู่เสมอ เมื่อรู้สึกเช่นนี้แล้วก็ให้มองหาสิ่งดีๆที่เรามีอยู่นั้นว่าจะนำไปทำอะไรได้ในรูปแบบใหม่ๆ เช่นเก่งภาษาเคยใช้เป็นมัคคุเทศก์ก็ผันตัวเองมาเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษฝรั่งเศสและสเปนเป็นต้น

2) #หาใครสักคนหรือสักกลุ่มหนึ่งที่เชื่อมั่นได้ว่ารักและจริงจังจริงใจต่อเราจริงๆ การมีบุคคลที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่าเป็นที่รักและเป็นที่ห่วงใยของเขานั้น จะช่วยทำให้เรามีความภาคภูมิใจและมีกำลังใจ ตลอดจนสามารถระบายความทุกข์ยากลำบากใจต่างๆให้เขาฟังได้ จะช่วยทำให้เราสบายใจยิ่งขึ้น

3) #ตั้งเป้าหมายใหม่ในชีวิต สืบเนื่องจากข้อ1ที่แนะนำให้ค้นหาสิ่งดีๆและมีคุณค่าในชีวิตที่ตนเองมีอยู่แล้วนั้น เพื่อนำมาตั้งเป้าหมายใหม่ เพื่อการทำงานในรูปแบบใหม่ ดังเช่นปรับเป้าหมายจากการเป็นมัคคุเทศก์ภาษาสเปนมาเป็นวิทยากรสอนภาษาสเปนในโรงเรียนกวดวิชา

4) #ชื่นใจกับความสำเร็จในเป้าหมายใหม่เป็นระยะๆ กล่าวคือเมื่อตั้งเป้าหมายใหม่ในสิ่งดีเดิมๆเช่นเปลี่ยนตัวเองจากมัคคุเทศก์ภาษาสเปนมาเป็นอาจารย์สอนภาษาสเปนนั้น ก็ขอให้ชื่นชมยินดีในตนเองที่สามารถสอนภาษาสเปนได้ และชื่นชมยินดีที่มีลูกศิษย์ลูกหาเรียกตัวเราว่าเป็นครูบาอาจารย์ นั่นคือมองเห็นความหมายใหม่ของชีวิตในความสามารถเดิมนั่นเอง

5) #แสวงหาสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุน เมื่อไหร่ที่ตนเองตกอยู่ในภาวะทุกข์ยากลำบากใจก็พึงแสวงหาว่ามีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนและบุคคลใดที่สามารถเป็นสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนให้กับตนเองได้บ้าง เช่นสถาบันการเงินอาจเป็นสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนในเชิงธุรกิจ สมาคมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอาจเป็นสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนด้านนโบบายและข้อมูลต่างๆด้านการท่องเที่ยวเป็นต้น

ดังนั้นหากพบปัญหาใดๆ ไม่ว่าจะช่วงหลังโควิดระบาดหรือโควิดไม่ระบาดก็ตาม หากใช้หลักการทำใจและมองเห็นความหมายของปัญหาต่างๆด้วยใจที่เห็นธรรม กระทั่งทำใจทางโลกตามหลักการทั้งห้าข้อที่กล่าวมานั้น ก็จะช่วยให้เราทุกๆคนเกิดพลังใจและมุ่งมั่นฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆให้ผ่านพ้นไปได้จากธรรมใจและทำใจนั่นเอง

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพจิตสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ wuttipong academy ,ประธานมูลนิธิเอ็มพลัส ,กรรมการบริหารมูนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุงและประธานกองทุนกิจกรรมทางสังคมเพื่อสุขภาพจิต 12/สค/63

Recommended Posts