แปลงความรู้สึกรักให้เป็นการสื่อสาร

“พ่อครับผมรักพ่อนะครับ” “พ่อก็รักลูกมากเช่นกันครับ” “แม่ครับผมรักแม่นะครับ” แม่ก็รักและห่วงใยลูกมากๆจ้า“ “ครูรักลูกศิษย์ทุกๆนะคะ” “คุณครูขาหนูรักและนับถือคุณครูมากค่ะ” “พี่ครับผมรักพี่นะครับ” “เฮ้ยเพื่อน เรารักและเป็นห่วงนายมากน๊ะ” “ผมรัก และปรารถนาดีต่อทีมงานของเราทุกๆคนครับ” “ที่รักผมรักคุณนะครับ” นั่นคือการบอกรักความรักเป็นความรู้สึกที่ดีงามและยิ่งใหญ่มีไว้บอกให้แก่กันและกันใช่มีเก็บไว้ในใจแต่เพียงผู้เดียว

เมื่อรักแล้วพึงบอกรักต่อกัน การรักแล้วไม่บอกรักนั้น สร้างอุปสรรคมากมาย เช่นสามีภรรยาคู่หนึ่งจะเลิกร้างกันเพราะว่าตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาสามีไม่เคยบอกรักภรรยาเลย หรือ วัยรุ่นคนหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า “ผมเติบโตมาจนเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วผมยังไม่เคยรู้เลยว่า ผมเป็นลูกที่พ่อแม่รักและปลื้มหรือเปล่า” การรักแล้วไม่บอกว่ารักปล่อยให้อีกฝ่ายเข้าใจเอาเองนั้นมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ยิ่งสื่อสารไม่ถูกวิธีอาจยิ่งทำให้รักแปรปรวนได้

ความรู้สึกรักและการสื่อสารที่ถูกต้องเหมาะสมที่สัมพันธ์กับคำว่ารักนั้นสำคัญยิ่ง เพราะจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีต่อกันและกัน ทั้งยังสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและช่วยทำให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกได้ว่ามีใครสักคนหนึ่งที่รักและจริงจังจริงใจต่อเราจริงๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างพลังสุขภาพจิตให้กับตัวเราเองและคนที่เรารักได้เป็นอย่างดี หลักการสื่อสารที่บ่งชี้ว่ารักนั้นมีดังต่อไปนี้

1)แสดงสีหน้าท่าทีที่สุภาพและเป็นมิตร การแสดงสีหน้าท่าทีที่สุภาพและเป็นมิตรนั้น เป็นการสื่อสารที่เรียกว่าอวจนภาษาหรือภาษากาย แทบจะเรียกได้ว่าสำคัญกว่าภาษาพูดด้วยซ้ำ เพราะหากความคิดและความรู้สึกเป็นอย่างไรก็มักจะส่งผ่านมาสู่ภาษากายทันทีโดยปราศจากการควบคุมด้วยสติ ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกดีกับใครหรือใครที่รู้สึกดีกับเราหรือรู้สึกรักกันก็จะเห็นคุณค่าต่อกันจึงพึ่งแสดงสีหน้าแววตาและท่าทีที่สุภาพและเป็นมิตรต่อกันอย่างสม่ำเสมอ

2)พึงสัมผัสกันเพื่อแสดงความรักอย่างเหมาะสม การสัมผัสกันนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของอวจนภาษาที่สามารถจะสื่อสารได้ว่าเรารักกัน เช่นการจับมือ การโอบไหล่ การโอบเอว การลูบผม การประคอง การกอดกัน ทั้งนี้จะสัมผัสกันด้วยวิธีการใดนั้นควรประเมินดูสัมพันธภาพระหว่างบุคคลเสียก่อนว่า มีความสนิทชิดเชื้อแนบแน่นและรักใคร่ชอบพอกันในระดับใดและรูปแบบใด กระทั่งควรให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมนั้นๆด้วย

3)สื่อสารแสดงความห่วงใยใส่ใจต่อกัน ความรักคือการดูแลเอาใจใส่และเรียนรู้ในสิ่งที่เรารัก ดังนั้นเมื่อเรารักใครควรดูแลเอาใจใส่อย่างรอบด้านทั้งวิถีชีวิตประจำวัน สิ่งที่เขาชอบ สิ่งที่เขาไม่ชอบ ความคิดอารมณ์ ทัศนคติ รูปแบบการดำเนินชีวิตและอื่นๆอีกมากมาย เพราะการดูแลเอาใจใส่และเรียนรู้จักในสิ่งที่เรารักเป็นอย่างดีนั้น คือการแสดงความรักอย่างแท้จริงรูปแบบหนึ่ง อาจสื่อสารกันง่ายๆเช่น “คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง” “คุณเป็นอย่างไรบ้างมีอะไรให้ผมช่วยก็บอกผมได้นะครับ “เป็นต้น

4)สื่อสารด้วยการชื่นชม การชื่นชมจะช่วยให้ผู้ที่ได้รับการชื่นชมรู้สึกได้ว่าเขามีคุณค่าและได้รับความรักความใส่ใจ การชื่นชมสามารถทำได้ด้วยการค้นหาคุณงามความดีของผู้อื่นให้ได้มากๆ แล้วนำมาชื่นชมทีละประเด็น จากนั้นให้บอกหลักฐานของประเด็นที่เราชื่นชมและกลับมาย้ำประเด็นที่เราชื่นชมนั้นอีกครั้ง เพื่อทำให้คนที่เราชื่นชมประจักษ์แก่ใจว่า เขามีคุณงามความดีและได้รับการให้คุณค่าจากเราจริงๆ เช่น “ผมชื่นชมคุณมากครับที่เป็นคุณเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูงโดยเฉพาะตั้งแต่รู้จักกันมาสองปีเมื่อคุณรับปากสิ่งใดกับผมแล้วคุณไม่เคยผิดคำสัญญาเลยเพราะฉะนั้นผมจึงรู้สึกชื่นชมคุณที่เป็นคนที่รับผิดชอบมากครับ “ เป็นต้น

5)สื่อสารต่อกันด้วยเหตุผล การสื่อสารกันอย่างมีเหตุมีผลนั้นเป็นการสื่อสารกันแบบผู้ใหญ่ที่ไม่ใช้อารมณ์นำหลักการ แต่ใช้หลักการและเหตุผลพูดคุยกันด้วยมธุรสวาจาอย่างมีเหตุมีผล การใช้เหตุผลมาเป็นหลักการในการสื่อสารต่อกันนั้น จะช่วยลดและควบคุมอารมณ์ทางด้านลบไปได้มาก ทั้งยังเป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นผู้ที่มีการการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในวัยผู้ใหญ่ ได้เป็นอย่างดี

6)สื่อสารกันด้วยเสียงระดับกลาง เสียงของคนเรานั้นอย่างน้อยมีสามระดับคือเสียงต่ำเสียงกลางและเสียงสูง จากผลการวิจัยพบว่าการสื่อสารด้วยเสียงระดับต่ำนั้นทำให้ผู้รับสารตีความว่ารู้สึกถูกกดทับ ส่วนการสื่อสารด้วยเสียงสูงก็ทำให้ผู้รับสารตีความว่าเสมือนถูกข่มเหงหรือคุกคาม เช่นจากการวิจัยพบว่าครูที่พูดเสียงสูงทำให้เด็กหนีเรียนมากขึ้น ภรรยาที่พูดเสียงสูงกับสามีทำให้สามีก็หนีออกจากบ้านเป็นต้น ดังนั้นระดับเสียงที่ให้ความรู้สึกว่ารักเมตตากรุณาต่อกันนั้นคือเสียงระดับกลางๆ เพราะฉะนั้นพึงสื่อสารต่อกันด้วยเสียงระดับกลางจะช่วยให้ทุกฝ่ายตีความได้ว่ามีความรักและเมตตาต่อกัน

7)ควรสื่อสารเมื่อมีอารมณ์ด้านดี อารมณ์ด้านดีเช่น ดีใจ ปิติยินดี สนุกสนานร่าเริงเป็นต้น เพราะขณะที่อารมณ์ดีนั้นสีหน้าแววตาท่าทีจะเป็นมิตรตามเช่นกัน ช่วยทำให้อีกฝ่ายตีความได้ว่าเรามีความรักและปรารถนาดีและให้เกียรติต่อเขา และควรหลีกเลี่ยงการสื่อสารเมื่อเกิดอารมณ์ด้านลบ เช่นอารมณ์โกรธ เกลียด แค้น หงุดหงิด น้อยใจ เศร้าใจเป็นต้น เพราะอารมณ์เหล่านั้นจะส่งผลต่อการสื่อสารทั้งคำพูดและการแสดงออกในด้านลบ ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามตีความได้ว่าเราไร้ความรักและเมตตาต่อเขา

8)รู้จักกล่าวขอบคุณและขอโทษอย่างเหมาะสม การรู้จักกล่าวขอบคุณเป็นการสำนึกรู้คุณแก่คนที่เราคบค้าสมาคมด้วยเมื่อเขาให้สิ่งดีๆใดๆแก่เราทั้งการพูดดีทำดี พึงกล่าวขอบคุณอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันหากทำสิ่งใดผิดพลาดก็พึงกล่าวขอโทษต่อกันและกันด้วยสีหน้าท่าทีที่เป็นมิตรและน้ำเสียงระดับกลางๆทุกครั้ง พร้อมทั้งบอกเหตุผลแห่งการขอบคุณและขอโทษนั้นเสมอ จะเป็นการบ่งชี้ถึงวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่และความรักอย่างรู้จักสำนึกรู้คุณนั่นเอง

หากทุกๆท่านปฏิบัติได้ทั้งแปดข้อดังกล่าวมาพร้อมทั้งหมั่นบอกรักต่อกันและกัน อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ทุกๆคนรู้สึกได้ว่า ต่างเป็นที่รักของกันและกัน จะช่วยส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยให้ทุกๆนาทีเป็นห้วงเวลาแห่งความรักนั่นเอง

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบัน Wuttipong Academy และสถาบันจิตเกษมเพื่อการพัฒนาคุณภาพจิตและการจัดการเชิงคุณภาพ และกรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts